วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ปัจจัย "ใน-นอก" รุมเร้า "ทิสโก้"มองปีนี้ต่างชาติยังกดดันหุ้นไทย


“ทิสโก้” คาดการณ์หุ้นไทยปีวอกไปได้ไม่ไกล จากปัจจัยภายในและนอกประเทศ แต่แรงขายต่างชาติน่าจะชะลอตัวลงแล้วหลังขายทิ้งกว่า 4 แสนล้านบาท ส่วนเม็ดเงินจะไหลกลับมาอีกเมื่อไหร่ขึ้นอยู่กับการเมืองที่ต้องมีความ ชัดเจน และตัวเลขเศรษฐกิจที่ยังเห็นการฟื้นตัว แนะลดดอกเบี้ยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังเครื่องยนต์ทั้งการส่งออก การบริโภคทำงานไม่เต็มที่
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ เปิดเผยว่า ทิสโก้ประเมินตลาดหุ้นไทยปีนี้ว่าคงปรับตัวขึ้นได้แต่ไม่มาก โดยครึ่งปีแรกดัชนีมีโอกาสปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดที่ 1,400 จุดได้ แต่ความเสี่ยงที่ดัชนีจะปรับตัวลงแรงก็คงไม่มากแล้ว เพราะช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาได้ปรับตัวลงมารับปัจจัยลบมากแล้ว โดยนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยทิ้งไปกว่า 400,000 ล้านบาท และตั้งแต่ต้นปีนี้ต่างชาติยังขายต่อเนื่องอีกกว่า 10,000 ล้านบาท จนทำให้ปัจจุบันต่างชาติถือครองหุ้นไทยต่ำสุดในรอบ 10 ปี เป็นผลจากปัจจัยลบทั้งในและต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ดัชนีหุ้นไทยนับจากต้นปียังปรับตัวขึ้นมาได้แม้จะไม่มาก แต่เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นทั่วโลกที่ปรับตัวลงไปแล้วเฉลี่ยกว่า 10% และตลาดหุ้นจีนลงหนักสุดถึง 20% นั่นเพราะนักลงทุนมองว่าราคาหุ้นไทยปรับตัวลงจนอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้นต่างชาติจึงน่าจะชะลอการเทขายหุ้นไทยแล้ว
ส่วนเงินทุนต่างชาติจะกลับมาซื้อหุ้นไทยเมื่อไรนั้น มองว่าคงยังไม่ใช่ช่วงนี้ แต่น่าจะเป็นช่วงครึ่งปีหลัง แม้จะมีต่างชาติบางกลุ่มเข้ามาซื้อบ้างแล้วก็ตาม โดยปัจจัยที่จะทำให้ต่างชาติกลับมาซื้อหุ้นไทยคือ การเมืองที่ต้องมีความชัดเจนและตัวเลขเศรษฐกิจที่ต่างชาติยังติดใจว่า เศรษฐกิจปี 58 ที่การเติบโตกระจุกตัวอยู่กับการท่องเที่ยวและการลงทุนภาครัฐเท่านั้น ขณะที่การส่งออกและการบริโภคภายในยังไม่ดี จึงเห็นได้ชัดว่าเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวอื่นๆยังไม่ทำงาน หากเอาการท่องเที่ยวกับการลงทุนภาครัฐออก เศรษฐกิจจะโชว์การถดถอย
ส่วนปี 59 มองว่าการท่องเที่ยวและการลงทุนภาครัฐคงจะไม่โตก้าวกระโดดเหมือนปี 58 ที่รัฐผลักดันการลงทุนภาครัฐสุดตัวจนโตถึง 30% และการท่องเที่ยวโต 20% ดังนั้น ปีนี้น่าจะโตที่ระดับปกติที่ 5-10% เท่านั้น ส่วนส่งออกก็ยังไม่น่าดีขึ้นมากเพราะเศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนสูง ขณะที่การบริโภคในประเทศก็ยังไม่ฟื้นตัว
ดังนั้น รัฐบาลจึงพยายามกระตุ้นและส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชนมาเป็นตัวขับเคลื่อน เศรษฐกิจแต่ขณะนี้ก็ยังไม่เห็นสัญญาณการลงทุนภาคเอกชน แม้รัฐจะออกนโยบายมากระตุ้นหลายด้าน เพราะเอกชนยังไม่เห็นการบริโภคฟื้นตัวทำให้ไม่มีดีมานด์ และยังกังวลกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายหากมีการเปลี่ยนรัฐบาล ดังนั้นรัฐบาลควรออกมาให้ความชัดเจนเรื่องนโยบายผ่านการสื่อสารที่เข้มข้น ขึ้นและสิ่งที่จะช่วยกระตุ้นได้อีกทางคือการใช้นโยบายการเงินโดยการลดอัตรา ดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งขณะนี้ปัจจัยที่เอื้อต่อการลดดอกเบี้ยมีมากขึ้น จากเงินเฟ้อที่ต่ำจนติดลบ และอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงสูงมาก
ค่าเงินบาทก็แข็งค่า ท่ามกลางทิศทางดอกเบี้ยโลกที่ลดลง ทั้งญี่ปุ่นและยุโรป ขณะที่สหรัฐฯก็มีสัญญาณการหยุดขึ้นดอกเบี้ย ดังนั้น การลดดอกเบี้ยอาจช่วยกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนและช่วยกระตุ้นการ บริโภคภายในได้เพราะภาระจ่ายดอกเบี้ยที่ลดลงของครัวเรือนที่มีหนี้สูง
ส่วนสถานการณ์การเมืองในประเทศ หากการเมืองชัดเจน ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามตินำมาใช้ได้ และมีการเลือกตั้ง เม็ดเงินลงทุนน่าจะไหลกลับเข้ามาลงทุนในไทยได้อีกมาก แต่หากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ นักลงทุนกังวลสถานการณ์หลังจากนั้นว่าจะเกิดความวุ่นวายหรือไม่ รัฐบาลจะจัดการเลือกตั้งได้หรือไม่ พรรคการเมืองต่างๆจะมีการเคลื่อนไหวอย่างไร เหล่านี้คือความไม่แน่นอนที่เป็นความเสี่ยงที่ทำให้ต่างชาติยังไม่ตัดสินใจ เข้ามาลงทุน.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น