วันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2559

บริษัทหุ้นปี 58 กำไร 7 แสนล้าน รัฐพลิกเกมปรับดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจใหม่


ตลาดหลักทรัพย์เผยบริษัทในตลาดหุ้นฟันกำไรในปี58 เฉียด 7 แสนล้านบาท ลดลง 1.37% จากปีก่อนหน้า เหตุได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันและราคาเหล็กทรุดฮวบ ทำกลุ่มพลังงาน-สาธารณูปโภค-หมวดธุรกิจเหล็กกำไรหด ด้านรัฐบาลจัดทำตัวชี้วัดความมั่งคั่งเศรษฐกิจไทยใหม่ เริ่มแถลงเดือน เม.ย.นี้
นายสันติ กีระนันทน์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์จำนวน 541 บริษัท หรือคิดเป็น 97.13% จากทั้งหมด 557 บริษัท ไม่รวมบริษัทในกลุ่มที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน หรือเอ็นซี และบริษัทที่แก้ไขการดำเนินงานไม่ได้ตามกำหนด หรือเอ็นพีจี นำส่งผลการดำเนินงาน งวดปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2558 แล้ว โดย บจ.มีกำไรสุทธิจำนวน 441 บริษัท คิดเป็น 81.52% ของบริษัทที่นำส่งงบการเงินทั้งหมด มียอดขายรวมเท่ากับ 10,371,384 ล้านบาท ลดลง 9.35% และมีกำไรสุทธิ 696,978 ล้านบาท ลดลง 1.37% จากปีก่อน
สำหรับสาเหตุที่ยอดขายและกำไรโดยรวมลดลงนั้น ส่วนใหญ่เป็นผลจากหมวดธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค และหมวดธุรกิจเหล็กที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันและราคาเหล็กปรับลดลงในปี 2558 และการขาดทุนสินค้าคงคลัง รวมถึงหมวดธนาคารพาณิชย์ที่มีกำไรสุทธิลดลงจากการมีค่าใช้จ่ายการตั้งสำรอง หนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี หากพิจารณาผลการดำเนินงานโดยไม่รวมหมวดธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค และธุรกิจหมวดเหล็กที่มีเหตุการณ์ไม่ปกติ พบว่า บจ.จะมียอดขายลดลง 1.33% แต่มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 5.95% จากปีก่อนหน้า
ส่วนผลการดำเนินงานของ บจ. ไตรมาส 4 ปี 2558 มียอดขายรวม 2,583,157 ล้านบาท ลดลง 7.50% จากงวดเดียวกันปีก่อน แต่มีกำไรสุทธิ 170,258 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 152.54% จากงวดเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากหมวดธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค และหมวดปิโตรเคมีปรับดีขึ้น ขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2558 บจ. มียอดขายปรับดีขึ้น 2.47% และมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 189.00% และเมื่อพิจารณาฐานะของกิจการพบว่าอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนโดยไม่รวม อุตสาหกรรมการเงินอยู่ที่ 1.18 เท่า ลดลงจาก 1.23 เท่าในปี 2557 แสดงถึงโครงสร้างเงินทุนของ บจ.ที่แข็งแรง
“ในปี 2558 บจ.มีกำไรสุทธิกระจายอยู่ในทุกหมวดธุรกิจ ยกเว้นหมวดธุรกิจเหล็ก โดยมี 17 หมวดธุรกิจที่มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หมวดธุรกิจที่มีกำไรสุทธิ ยอดขายและอัตรากำไรขั้นต้นปรับสูงขึ้นมีถึง 9 หมวดธุรกิจ เรียงลำดับตามมูลค่ากำไรสุทธิสูงสุด ได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, พาณิชย์, อาหารและเครื่องดื่ม, การแพทย์, เงินทุนและหลักทรัพย์ยานยนต์, แฟชั่น, การท่องเที่ยวและสันทนาการและบริการเฉพาะกิจ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ การฟื้นตัวของกลุ่มส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ รวมถึงการบริหารต้นทุนได้ดีขึ้น”
ขณะที่ผลการดำเนินงานปี 2558 ของ บจ. ในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ปรับดีขึ้น โดยมียอดขาย 124,826 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.79% และมีกำไรสุทธิ 5,718 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.19% จากงวดเดียวกันปีก่อน โดยมีอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นจาก 21.27% เป็น 24.33%
ด้านนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการหารือร่วมกันระหว่าง 5 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.), ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ), ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อจัดทำเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจการค้าการลงทุนไทย โดยทั้ง 5 หน่วยงานเห็นพ้องร่วมกันที่จะจัดทำตัวชี้วัดเศรษฐกิจไทย ให้ครอบคลุม 4 มิติ ทั้งการส่งออกสินค้า การส่งออกบริการ การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ และการลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศ เพื่อให้เห็นภาพความมั่งคั่งของไทยครอบคลุมทุกมิติ รวมถึงจะนำมากำหนดนโยบาย และยุทธศาสตร์ผลักดันการเติบโตของไทยในทั้ง 4 ด้านได้อย่างชัดเจนมากขึ้น ทำให้นักลงทุนต่างชาติตัดสินใจลงทุนในไทยได้ทันที โดยทั้ง5 หน่วยงานจะลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู)ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอ
“คาดว่าจะเริ่มแถลงตัวชี้วัดดังกล่าวครั้งแรกในเดือน เม.ย.นี้ ซึ่งใน 3 รายการ คือ การส่งออก บริการ การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ และการลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศ จะเป็นการรายงานย้อนหลัง หรือเก็บตัวเลขได้เป็นรายไตรมาส ไม่สามารถจัดเก็บได้ทุกเดือนเหมือนตัวเลขส่งออก”
สำหรับสาเหตุที่ต้องใช้ตัวชี้วัดทั้ง 4 รายการแสดงความมั่งคั่งของไทย เป็นเพราะปัจจุบันตัวเลขการส่งออกสินค้าเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถมองภาพของไทยได้ชัดเจน ถูกต้อง ขณะที่ภาคบริการ และการลงทุน เริ่มมีบทบาททางเศรษฐกิจมากขึ้น ดังนั้น ไทยต้องปรับตัว ซึ่งเมื่อสามารถเก็บตัวเลขทั้ง 4 รายการได้แล้ว จะสามารถนำมากำหนดยุทธศาสตร์ผลักดันการเติบโตของทั้ง 4 รายการได้ชัดเจนมากขึ้น เช่น ในภาคบริการบางสาขาของไทย เช่น การขนส่งและโลจิสติกส์ สุขภาพและความงาม ไทยยังมีศักยภาพส่งออกได้อีกมาก จากปัจจุบันที่ยังมีการส่งออกน้อยมาก ก็จะสามารถกำหนดนโยบายในการผลักดันการส่งออกได้ หรือบางอย่างที่ไทยยังขาด เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ภาครัฐก็สามารถกำหนดเป็นนโยบายส่งเสริมให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุนได้ เป็นต้น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น